การพยาบาลผู้ที่มีภาวะถอนพิษสุรา (Nursing Care for Patient with Alcohol Withdrawal)



หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าภาวะถอนสุราหรือภาวะถอนพิษสุรากันมาบ้างแล้วนะครับ คนทั่วไปหรือบางคนอาจคิดว่าการถอนพิษสุรานั้นคือการที่ดื่มเหล้าซ้ำเข้าไปในตอนเช้าหลังจากที่เมากลับบ้านมาเมื่อคืนนี้ แล้วมีอาการปวดหัว ไม่สบายตัว ไม่สดชื่น หากได้ดื่มเหล้าสักหน่อยคงจะดีขึ้น แต่จริง ๆ แล้วรู้หรือไม่ว่าภาวะถอนสุรานั้นเป็นอาการที่จะเกิดขึ้นหลังจากหยุดดื่มเหล้าตากหาก และที่สำคัญอาการเหล่านี้บางครั้งอันตรายอาจถึงชีวิตได้เลยนะครับ

ภาวะถอนพิษสุรา (Alcohol withdrawal) เป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในระบบประสาทส่วนกลาง เช่น หงุดหงิด กระสับกระส่าย มือสั่น แต่หากในรายที่มีประวัติดื่มมากและต่อเนื่องอาจเกิดอาการรุนแรง เช่น สับสน ประสาทหลอน หรือชักได้ โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อหยุดดื่มเหล้าหลังจากที่ดื่มเหล้าเป็นประจำติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน

อาการของภาวะถอนพิษสุรานั้นแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. Uncomplicated alcohol withdrawal มีอาการตัวสั่น มือสั่น หงุดหงิด คลื่นไส้ อาเจียน อาการมักเกิดหลังจากหยุดดื่มตั้งแต่ 6-24 ชั่วโมง แต่พบบ่อยในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น
2. Alcohol withdrawal seizure จะมีอาการชักแบบ generalized seizure (คือการชักทั่วร่างกาย) มักเกิดหลังจากหยุดดื่มในช่วง 7-48 ชั่วโมง
3. Alcohol hallucinations คือมีประสาทหลอน เช่น ได้ยินเสียงแว่ว ตื่นตระหนก หวาดกลัว โดยเริ่มมีอาการภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากหยุดดื่ม
4. Alcohol withdrawal delirium (Delirium Tremens) มีอาการ delirium โดยมักเป็นตอนเย็นหรือกลางคืน ผู้ป่วยมีอาการสับสน ร่วมกับมีประสาทหลอน เช่น รู้สึกว่ามีอะไรมาไต่ตามตัว หูแว่ว อาการเกิดหลังจากหยุดดื่มในช่วง 48-72 ชั่วโมง อาการจะเป็นมากในวันที่ 4-5 จากนั้นอาการจะลดลงใน 5-10 วัน

แม้ว่าอาการเหล่านี้จะลดลงและหายได้ภายใน 5-10 วัน แต่ในระหว่างนั้นผู้ป่วยจะมีความทุกข์ทรมานมาก และอาจได้รับอันตรายจากอาการเหล่านั้น บางครั้งอาจถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

โดยทั่วไปแล้วหากผู้ป่วยที่ติดเหล้าแล้วจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลมักเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นได้ เนื่องจากเมื่อต้องนอนโรงพยาบาลผู้ป่วยไม่สามารถดื่มเหล้าได้ (คงไม่มีพยาบาลคนไหนอนุญาตให้ผู้ป่วยดื่มเหล้าในโรงพยาบาลนะครับ แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ก็ตาม) ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยขาดเหล้าแล้วมีอาการ Withdraw ขึ้นมา คุณพยาบาลจะทำอย่างไรระหว่างการรายงานแพทย์กับเอาเหล้าให้ผู้ป่วยดื่มเพื่อให้ผู้ป่วยหายจากอาการ แน่นอนครับคำตอบคือการรายงานแพทย์ แต่ก่อนอื่นต้องซักประวัติการดื่มสุราให้แน่ชัดก่อนรายงานแพทย์ ซึ่งจะทำให้คุณเป็นพยาบาลที่ professional ซึ่งจะทำให้แพทย์ตัดสินใจให้การรักษาได้อย่างรวดเร็วและผู้ป่วยหายจากอาการเหล่านั้น ลองคิดดูครับว่าหากคนไข้เกิดอาการชักขึ้นแต่พยาบาลไม่ได้ซักประวัติอย่างดีแล้ว คงเป็นการยากที่แพทย์จะมาถึงแล้ววินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งแพทย์อาจต้องเสียเวลาในการหากข้อมูลหรือซักประวัติเพิ่มเติมอีกด้วย

การรักษา
เมื่อแพทย์ทราบสาเหตุแล้วก็จะทำการรักษา โดยการรักษาภาวะถอนพิษสุรานั้นเราจะให้ยาในการ detox (ไม่ใช่ให้เหล้าซ้ำเข้าไปนะครับ) โดยยาที่ว่านั้นคือยากลุ่ม benzodiazepine หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็นยานอนหลับหรือยาคลายกังวลนั่นเอง เช่น diazepam 5-10 มก. ทานวันละ 4 ครั้ง หรือให้ยา chlordiazepoxide 25-50 มก. กินวันละ เวลา ซึ่งยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์ในการจับกับ Receptor ตัวเดียวกันกับที่ Alcohol ไปจับนั่นเอง จึงเป็นการหลอกร่างกายว่าเรายังคงได้เหล้าเข้าไปในร่างกายเหมือนเดิม ทำให้อาการเหล่านี้ทุเลาลง หลังจากนั้นแพทย์จะค่อย ๆ ลดขนาดยาลงมาเรื่อย ๆ จนหยุดยาในที่สุดเมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น

นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยที่ดื่มสุราเป็นประจำยังมีความเสี่ยงในการขาด Vitamin B1 (Thiamine) ซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนหายใจระดับเซลล์หรือกระบวนการสร้างพลังงานใน Krebs cycle ทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์ ATP (พลังงานที่ร่างกายต้องการ) มาได้อย่างเพียงพอ จึงส่งผลกระทบต่อสมองเป็นอันดับแรกเพราะเป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานมาก จึงทำให้เกิดกลุ่มอาการ Wernicke-Korsakoff Syndrome ซึ่งมีอาการความจำเสื่อมถาวร ดังนั้นการรักษาควรให้ Vitamin B1 (Thiamine) 100-250 มก. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำ หรือ 100 มก. ทานวันละ ครั้ง จากนั้นอาจให้เป็นแบบรับประทานต่อเพื่อป้องกันการเกิด Wernicke-Korsakoff Syndrome

กิจกรรมการพยาบาล
1ประเมินและเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
2. ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาตามแผนการรักษาเพื่อป้องกันอาการ delirium และ Wernicke-Korsakoff Syndrome
3. จัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากอันตรายจากอุบัติเหตุ
4. ดูแลให้ได้รับสารน้ำอย่างเพียงพอ

สำหรับคนทั่วไปที่มีคนใกล้ชิดดื่มสุราเป็นประจำหรือตัวคุณเองที่ดื่มสุราเป็นประจำในปริมาณมาก ไม่แนะนำให้หยุดสุราเลยโดยทันที แต่แนะนำให้ค่อย ๆ ลดปริมาณลงแทน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะถอนพิษสุราครับ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ
By Natthapon Inta, BNS, RN

เอกสารอ้างอิง
ณัฐพล อินต๊ะและสุภาพร ปทุมานนท์. (2563). สรุปเนื้อหาสาระวิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช.กรุงเทพฯคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์.
ผกาพันธุ์ วุฒิลักษณ์. (บ.ก.). (2559). สรุปสาระทบทวนหมวดวิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช. เชียงใหม่สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มาโนช หล่อตระกลและปราโมทย์ สุคนิชย์. (บ.ก.). (2558). จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
ยาใจ สิทธิมงคลพวงเพชร เกษรสมุทรนพพร ว่องสิริมาศ, อทิตยา พรชัยเกตุ โอว ยอง. (บ.ก.). (2561). การพยาบาลจิตเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯโครงการตำราคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Harvard Health Publishing. (2019). Alcohol withdrawal. Retrieved May 16, 2020, from https://www.health.harvard.edu/a_to_z/alcohol-withdrawal-a-to-z

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิธีการและขั้นตอนการสมัครสอบ NCLEX เพื่อรับใบประกอบวิชาชีพการพยาบาล (RN License) ในอเมริกา

พยาบาลวิชาชีพในประเทศอังกฤษ (Registered nurses in the UK)

การเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านการพยาบาลในต่างประเทศ