โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive compulsive disorder: OCD)
ในปัจจุบันจะเห็นว่าเราพูดคำว่าเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD กันค่อนข้างบ่อย และโดยส่วนใหญ่จะให้ความรู้สึกกับคำนี้ค่อนข้างเป็นไปในทางบวก เช่น “แกนี่เป็นคนเป๊ะกับงานมาก ปล่อยไปไม่ได้เลย สงสัยจะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ” ซึ่งถือเป็นการชื่นชมเป็นนัย ๆ ว่าทำงานดี หรือบางครั้งใช้เป็นคำพูดล้อเล่นหรือล้อเลียน เช่น “ยังไงกัน แกเดินไปเช็กประตูอีกละเหรอ สงสัยจะเป็นเป็น OCD” แต่หากใครก็ตามป่วยเป็นโรคนี้จริง ๆ แล้วล่ะก็ จะไม่มีความสุขหรอก ส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะทุกข์กับอาการของตนมากกว่า
โรคย้ำคิดย้ำทำนั้น จริง ๆ แล้วแบ่งเป็น 2 เรื่องหลักตามชื่อโรคเลยครับ คือย้ำคิดกับย้ำทำ โดยจะเกิดอาการย้ำคิดก่อน เช่น คิดวน ๆ ซ้ำ ๆ ไปว่า “สกปรก” พื้นตรงนี้มันสกปรก หรือมือนี่มันสกปรก โดยคิดวน ๆ ซ้ำ ๆ แบบนี้ ทำให้เกิดความวิตกกังวล ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ จนต้องจัดการกับความรู้สึกวิตกกังวลหรือความทุกข์ใจเหล่านี้ด้วยการกระทำอะไรบางอย่าง และการที่จะช่วยลดความคิดว่ามือสกปรกได้คือการล้างมือ ดังนั้นเมื่อไปล้างมือความวิตกก็จะลดลง แต่ลดลงไปประเดี๋ยวเดียวความคิดเหล่านี้ก็จะวนกลับมาอีก ทำให้ต้องกลับไปล้างมืออีก เป็นแบบนี้ซ้ำ ๆ จึงทำให้เราเรียกมันว่าอาการ “ย้ำคิดย้ำทำ” นั่นเอง
อาการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค บางคนอาจเพียงแค่ย้ำคิดแต่จัดการกับความรู้สึกของตนเองได้จึงไม่ได้แสดงออกมาเป็นอาการย้ำทำก็มี เช่น บางทีเราเห็นใครบางคนเดินผ่าน (อาจเป็นคนที่รู้จัก เป็นคนที่มีอำนาจเหนือตนเอง) มักจะมีภาพ เสียงคำ หรือพูดดังขึ้นมาในหัวเรา เช่น “แทง” หรือ “ตบ” หรือบางครั้งที่ไปอยู่ในที่สูง ๆ เช่น บนตึก หรือบนภูเขาสูง อาจมีเสียงดังในหัวว่า “โดด” หรือ “ตก” ซึ่งเสียงเหล่านี้เราไม่ได้ตั้งใจพูดหรือไม่ได้ต้องการให้มันดังอยู่แบบนี้ มันมักเกิดขึ้นเอง แต่เราจัดการกับมันได้เราจึงไม่ได้เดินไปตบเจ้านาย ไม่ได้กระโดดลงจากตึก แต่ก็จะมีบางครั้งที่เสียงเหล่านี้มันหลุดออกมาจากปากเราและทำให้เกิดปัญหาตามมา หากเกิดกรณีเหล่านี้อาจต้องมีการจัดการหรือไปหาแหล่งช่วยเหลือที่ถูกต้องครับ
แต่บางคนก็ตั้งข้อสงสัยว่า ที่ทำอยู่นี้จริง ๆ แล้วมันคืออาการย้ำคิดย้ำทำหรือเป็น Perfectionist เช่น จัดของในบ้านเป็นวัน ๆ แบบนี้มันคืออะไรกันแน่ วิธีการที่จะช่วยให้เราเช็คตัวเองนั่นคือ ให้ถามตัวเองว่าที่ทำอยู่นี้มีความสุขไหม หรือสบายใจไหมที่ทำแบบนี้ หากตอบตัวเองได้ว่า ฉันโอเค ฉันสบายใจ และฉันภูมิใจที่ได้จัดห้องให้มันเป็นระเบียบและสวยงามตามที่ฉันต้องการ (คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ควรทำหรือต้องทำ) ถ้าเป็นแบบนี้สบายใจได้ว่ามันโอเคไม่ได้กระทบชีวิตคุณ แต่หากเราตอบตัวเองว่าที่ทำอยู่นี่มันคืออะไร ทำไมฉันต้องมาทำอะไรแบบนี้เป็นวัน ๆด้วย ฉันเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้ตั้งเยอะ อยากหยุดทำนะ แต่มันหยุดไม่ได้ (คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่หยุดตัวเองไม่ให้ทำไม่ได้) อาการหล่านี้แหละทำให้เราทุกข์ ไม่สบายใจ ซึ่งมันเป็นอาการของการย้ำคิดย้ำทำ และเราควบคุมตนเองไม่ได้ หากเป็นเช่นนี้แล้วแนะนำให้พบแพทย์ได้แล้วครับ
หลังจากนี้ขอเป็นแนววิชาการหน่อยนะครับ มาดูกันครับว่าโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นมีอาการทางคลินิก เกณฑ์การวินิจฉัย และการรักษาอย่างไรครับ
อาการทางคลินิก
โรคนี้จะมีลักษณะอาการสำคัญ 2 ประการ คือ
ย้ำคิด (Obsession) คือการมีความคิดหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเองซ้ำ ๆ โดยไม่มีเหตุผล และทำให้เกิดความกังวลใจ ไม่สบายใจ เช่น คิดซ้ำ ๆ ว่าลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คิดซ้ำ ๆ ว่าลืมปิดแก๊สหรือลืมล็อกประตูบ้าน
ย้ำทำ (Compulsion) คือการกระทำบางอย่างซ้ำ ๆ เพื่อลดความกังวลใจหรือความไม่สบายใจจากการย้ำคิด เช่น เช็กที่ปิดเปิดแก๊สกับลูกบิดประตูซ้ำ ๆ หรือล้างมือซ้ำ ๆ เพราะกังวลและไม่สบายใจว่ามือสกปรกหรือมีเชื้อโรค
เกณฑ์การวินิจฉัย
A. มีอาการย้ำคิด และ/หรือย้ำทำ
อาการย้ำคิด
1. มีความคิดเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และคงอยู่นาน โดยอาการดังกล่าวผุดขึ้นมาเอง โดยผู้ป่วยไม่ต้องการให้เกิด ทำให้เกิดความกังวลหรือทุกข์ใจมาก
2. ผู้ป่วยพยายามเพิกเฉย คิดหรือทำสิ่งอื่นทดแทน ทำให้เกิดการย้ำทำ (เพื่อลดความกังวลหรือทุกข์ใจ)
อาการย้ำทำ
1. พฤติการณ์หรือการกระทำในใจ เพื่อตอบสนองต่อการย้ำคิด
2. การกระทำนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันหรือลดความกังวลและความทุกข์ใจ
หมายเหตุ ในเด็กอาจไม่สามารถบอกถึงเป้าหมายของอาการย้ำทำได้
B. อาการย้ำคิดหรือย้ำทำ ทำให้สิ้นเปลืองเวลาเพราะมักจะต้องเสียเวลากับการย้ำคิดย้ำทำมากกว่า 1 ชั่วโมง/วัน เกิดความทุกข์ใจและทุกข์ทรมาน รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการเรียน
การรักษา
- การรักษาโดยไม่ใช้ยา เน้นพฤติกรรมบำบัด โดยให้ผู้ป่วยเผชิญกับความวิตกกังวล (อาการย้ำคิด) และให้อยู่กับความวิตกกังวลนั้นโดยไม่ตอบสนอง (อาการย้ำทำ) เรียกกระบวนการนี้ว่า Exposure and Response Prevention (ERP) ร่วมกับการทำ Cognitive behavior therapy (CBT) เพื่อเปลี่ยนความคิดที่ทำให้วิตกกังวล
- การรักษาด้วยยา เน้นยากลุ่ม SSRI เช่น Fluoxetine หากไม่ได้ผลภายใน 12 สัปดาห์ เปลี่ยนเป็นยา Clomipramine การรักษาควรต่อเนื่อง 12 เดือน เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ จากนั้นค่อยลดขนาดยา
By Natthapon Inta, BNS, RN
เอกสารอ้างอิง
ณัฐพล อินต๊ะ, และสุภาพร ปทุมานนท์. (2563). สรุปเนื้อหาสาระวิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช.กรุงเทพฯ: คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์.
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์.
ผกาพันธุ์ วุฒิลักษณ์. (บ.ก.). (2559). สรุปสาระทบทวนหมวดวิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช. เชียงใหม่: สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มาโนช หล่อตระกล, และปราโมทย์ สุคนิชย์. (บ.ก.). (2558). จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
ยาใจ สิทธิมงคล, พวงเพชร เกษรสมุทร, นพพร ว่องสิริมาศ, อทิตยา พรชัยเกตุ โอว ยอง. (บ.ก.). (2561). การพยาบาลจิตเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โครงการตำราคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
อธิษฐาน กาญจนะพงศ์ (ผู้อำนวยการผลิต). (2561). สิ่งของต้องวางเป๊ะ ล้าง ปิด เช็กอะไรซ้ำ ๆ เราเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือเปล่า [ออดิโอ พอดแคส]. ค้นจาก https://thestandard.co/podcast/ruok05/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น